ศิริวัฒน์หม้อแปลง !!หม้อแปลงสัญชาติไทยรายแรก!!


การล่มสลายของบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้า”ศิริวัฒน์”ของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ ในปี 2529 ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีคนไทย วันนี้บริษัท”ศิริวัฒน์น่าจะเติบใหญ่ ถ้าไม่เกิดสะดุดขาตัวเองในเรื่องการตัดราคาหั่นแหลกจนธุรกิจขาดทุนถึงล้มละลาย

สมเจตน์ วัฒนสินธุ์ คือผู้บุกเบิกวงการหม้อแปลงไฟฟ้าของไทยจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ได้รับการยกย่องเป็นนักธุรกิจดีเด่นปี 2524 และรับพระราชทานปริญญา ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ เพราะหม้อแปลงไฟฟ้าที่บริษัทศิริวัฒน์ผลิต เป็นที่ต้องการและทดแทนการ นำเข้าจากต่างประเทศได้ดี

สมเจตน์จบคณะวิศวะฯจุฬาฯ เริ่มทำงานที่ห้างวรบูรณ์จนเลื่อนเป็นผู้จัดการแผนกสินค้าไฟฟ้า ก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งธุรกิจของตัวเองในปี 2501 ในนาม”ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิริวัฒน์”ด้วยทุนจดทะเบียน1หมื่นบาท โดยใช้บ้านในซอยกัลปพฤกษ์เป็นโรงงาน

ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าขณะนั้นมีขนาดเล็กมาก ผู้ผลิตโรงงานเล็กๆในประเทศผลิตขายให้พ่อค้าชาวจีน ส่วนตลาดราชการ เช่น การไฟฟ้าฯ ได้สั่งหม้อแปลงจากต่างประเทศเข้ามาใช้โดยตรง

ในปี 2505 ภาวะสงครามเวียดนามเกิดขึ้น ฐานทัพอเมริกันในไทยได้สั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากบริษัทศิริวัฒน์ จากจุดนี้สมเจตน์ได้ขยายกิจการและพัฒนาผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าของไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยในปี 2514 บริษัทซื้อโนว์ฮาวจากอิสราเอลและส่งลูกน้อง 5 คนไปฝึกอบรมนาน 6 เดือน

หลังจากนั้นบริษัทศิริวัฒน์ก็สามารถประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งปี 2522 บริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้าแห่งแรกที่เริ่มส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาพพจน์บริษัทเสริมการตลาดอย่างดี

สมเจตน์ได้รุกก้าวพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนไปซื้อโนว์ฮาวจาก บริษัท เวสติ้งเฮ้าส์ ซึ่งทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าศิริวัฒน์เป็นที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพมากขึ้น และยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่รับโนว์ฮาวจากอิสราเอล ซึ่งขายได้ปีละ 20 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงปี 2524 บริษัทมีรายได้สูงสุดถึง 400 ล้านบาท และผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงหม้อแปลงไฟฟ้า

ในขณะนั้นตลาดคู่แข่งศิริวัฒน์ยังมีบริษัท ไทยแมกซ์เวลซึ่งตั้งขึ้นในปี 2521 โดย”” ซันนี่ ยง นายทุนสิงคโปร์ร่วมกับคนไทย ได้ลุยตลาดต่างจังหวัดก่อนและได้งานประมูลของการไฟฟ้าภูมิภาคในปี2523 แต่ก็มีปัญหาต้องแก้ไขตลอดเพราะมาตรฐานคุณภาพไทยแมกซ์เวลยังต่ำอยู่ ทำให้มีผลกระทบต่อยอดขายศิริวัฒน์ไม่มากนัก

แต่แล้วยักษ์ใหญ่อย่างศิริวัฒน์ก็ต้องสะดุดขาตัวเอง เมื่อเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ซึ่งเป็นหลานแท้ๆและเป็นมือขวาของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ ได้ลาออกจากบริษัทพร้อมกับทีมงาน 4 คนในปี 2524 ออกมาตั้งบริษัท”เอกรัฐ”ผลิตหม้อแปลงฯแข่งด้วย

สงคราม”การตัดราคา”จึงปะทุขึ้น โดยฝ่ายของบริษัทศิริวัฒน์เป็นฝ่ายเริ่มก่อน ในงานประมูลของการไฟฟ้าภูมิภาคเมื่อปี2525 จนในที่สุดทั้งไทยแมกซ์เวลและเอกรัฐ ต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ครองส่วนแบ่งตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าได้ถึง 90%

เมื่อโครงการแรกๆของบริษัทตัดราคามาได้นั้นต้องขาดทุน เพราะการลดค่าเงินบาท แต่เพื่อความอยู่รอด สมเจตน์ต้องหมุนเงินด้วยวิธีหางานประมูลในครั้งต่อไปให้ได้ เพื่อนำโครงการไปจำนองกับแบงก์ นำเงินมาใช้ในโครงการแรก นี่คือลักษณะดำเนินธุรกิจแบบลูกโซ่ที่เปราะบาง

ในช่วงที่ประมูลงานได้และต้องนำโครงการนี้มาจำนองแบงก์นั้น ทางบริษัทศิริวัฒน์เริ่มขาดทุนแล้ว จึงต้องมีการทำตัวเลขบัญชีขึ้นมาเสนอแบงก์ให้เห็นว่าไม่ขาดทุน โดยลดตัวเลขราคาวัตถุดิบลงมา พอทางแบงก์อนุมัติก็ทำได้ไม่ครบตามจำนอง เพราะเงินไม่พอซื้อวัตถุดิบ ทำให้โครงการชะงักไป ส่งมอบไม่ทันกำหนด ต้องถูก กฟภ.ปรับเป็นเงิน 4.5% ต่อเดือน เมื่อรวมหลายๆโครงการเข้ากลายเป็นเงินค่าปรับหลายสิบล้านบาท

แม้ธุรกิจจะขาดทุน แต่ด้วยความเป็นวิศวกรที่มองการณ์ไกล สมเจตน์ตั้งใจจะผลิตหม้อแปลง ระบบ Power Transformer ซึ่งเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาดใหญ่มาก เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นตลาดใหญ่ สมเจตน์จึงนำเงินทุนหลายสิบล้าน ไปขยายซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตจนสามารถชนะงานประมูลหม้อแปลงระบบนี้ ขนาด 50 MVA กับกฟผ.ได้ 1 ตัว และนับเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ติดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2528 ที่สถานีย่อยสาขาชิดลม และยังเดินเครื่องถึงทุกวันนี้

ในปี 2527 มาตรการจำกัดสินเชื่อ18%และการลดค่าเงินบาทได้กระหน่ำให้ฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์ต้องทรุดหนัก ตัวเลขขาดทุนในงบดุลปีนั้นปรากฎติดลบ 31 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพกับแบงก์กรุงไทยมีเงื่อนไข ต้องประกันโครงการด้วยเงินสด 30% และชะลอให้สินเชื่อแก่บริษัทศิริวัฒน์

ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทศิริวัฒน์มีมาก ก่อนปิดโรงงานแปดเดือน สมเจตน์ต่อรองให้พนักงานกว่า 400 คนยอมรับเงินเดือนเบื้องต้น 500 บาทต่อเดือนก่อน โดยสมเจตน์วาดหวังว่าจะต้อง ฝ่ามรสุมให้ผ่านพ้นไปได้ถึงปี 2530 แต่ความจริงคือกฟภ.ได้ตัดสิทธิ์ไม่ให้บริษัทศิริวัฒน์เข้าประมูลงานอีกต่อไปตั้งแต่ปลายปี 2528

นี่คืออวสานของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์และบริษัทศิริวัฒน์ที่ก่อตั้งมายาวนาน 28 ปี แต่สิ่งที่ดีที่สมเจตน์ได้สร้างไว้ให้กับวงการหม้อแปลงไฟฟ้า คือเทคโนโลยีที่คนไทยทำได้เองและได้สร้าง “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” เช่น สัมพันธ์ วงศ์ปาน อดีตผู้จัดการโรงงานซึ่งก่อตั้งบริษัท ไทยทราโฟ ผลิตหม้อแปลงฯและสามารถประมูลงาน 10 ล้านของ กฟภ.ได้ ส่วนพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งตั้ง”บริษัทกิจวัฒนา”ขายพ่อค้าทั่วไป โดยผู้บริหารทั้งสองบริษัทได้เรียนรู้บทเรียนหายนะจากสงครามตัดราคา ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท”ศิริวัฒน์แล้ว

หมายเหตุ จากเรื่อง” เมื่อไฟฟ้าชอร์ตวงการหม้อแปลงไฟฟ้า” โดย ดารณี ชัยพันธ์- ปราณี ชีวาภาคย์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 12 เดือนสิงหาคม 2527

จากเรื่อง”เมื่อสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ปล่อยหมัดตัดราคาหวังน็อคคู่แข่ง เอาศิริวัฒน์เป็น เดิมพัน แล้วทุกอย่างก็พังไปตามระเบียบ” โดย ปราณี ชีวาภาคย์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 37 เดือนตุลาคม 2529

(รูปประกอบไม่เกี่ยวกับบทความนี้นะครับ)

ชื่อภาพ…สยาม

แนวคิด…ความเป็นจริงอาจไม่ได้งดงามอย่างที่ตาเห็น

Cr. วิกรานต์ ลีลาธนางกูร

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*