ประวัติไฟฟ้าของไทย
นี้เป็นประวัติไฟฟ้าไทยที่น่าเชื่อถือ ไม่ผิดเพี้ยน ค้นคว้าจากเอกสารตั้งต้นในยุคสมัยนั้นๆ ยืนยันพิสูจน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ”ไฟฟ้า” เป็นคำผสม คนไทยสมัยโบราณใช้ “ไฟ” ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ให้แสงสว่าง ซึ่งมีบางคุณลักษณะเหมือนกันกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า คือมีลำแสงหรือเปลวไฟที่ทำให้เกิดแสงสว่างและทำให้เชื้อติดไฟได้ คำว่า “ไฟฟ้า” ในสมัยนั้นจึงหมายถึงไฟอยู่บนท้องฟ้าที่สามารถลงมาสู่พื้นโลกได้ จากตำนานนครจำปาศักดิ์ว่าในปี พ.ศ. 2360 มีผู้เอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้เชื้อติดไฟ อวดว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกไฟฟ้าคือไฟที่อยู่บนฟ้าลงมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นได้ ผู้คนเกิดความเกรงกลัว จึงคิดขบถรวบรวมผู้คนยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีรุกรานไปตามหมู่บ้านต่างๆ (จากหนังสือพิมพ์เทศาภิบาล เล่มที่ 4 พ.ศ. 2450) ความรู้เรื่องไฟฟ้าตามหลักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามาเผยแพร่สู่สังคมไทยโดยมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาในรูปแบบข่าวสารลงในหนังสือพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ได้ลงหัวข่าวว่า “ตำราไฟฟ้า (Lightning)” เป็นการเอาคำภาษาอังกฤษว่า “Lightning” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ตำราไฟฟ้า” ได้กล่าวถึงการเกิดและการเคลื่อนที่ของไฟฟ้า (ฟ้าแลบ) มีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นสื่อหรือตัวนำไฟฟ้า สิ่งใดเป็นฉนวนไฟฟ้า มีการอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 1) ในปี พ.ศ. 2388 หนังสือพิมพ์ลงข่าวถึงวิธีคำนวณระยะทางหรือตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าด้วยวิธีจับชีพจร โดยเมื่อเห็นฟ้าแลบก็ให้รีบจับชีพจรแล้วนับจำนวนครั้งของชีพจรจนถึงเมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่า เป็นการอาศัยอัตราความเร็วของแสง เสียง และการเต้นของหัวใจ กำหนดว่าเสียงเดินทางเป็นระยะทาง 140 เมตรต่อการเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 11) และข่าวจากต่างประเทศว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำลองเหตุการณ์ทดลองระเบิดเรือรบโดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวจุดชนวน ข่าวว่าได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 12) ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่สามารถบอกปี พ.ศ. อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว 1.ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408 2.ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421 3.ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423 4.ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง) ในปี พ.ศ. 2408 หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่มาจากต่างประเทศว่า “อนึ่งข่าวมาแต่บำไบว่ามีจำพวกหนึ่ง ว่าจะตั้งโคมให้แสงสว่างเมื่อเพลากลางคืนเป็นอย่างใหม่เรียกว่าอีเลกโตรแมคเนตอิกไลต์ ข่าวว่าสว่างนั้นมีแสงกล้านัก พอที่คนอยู่ไกลหลายสิบเส้นจะเห็นตัวหนังสือชัดอ่านได้” (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 18) และลงข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติต้องการขายเครื่องไฟฟ้าชุดหนึ่ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 21) ข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีการทดลองและใช้โทรเลขกัน (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 2 ใบที่ 2) ในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้เขียนบทความอธิบายเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร (จากหนังสือแสดงกิจจานุกิจ) ในปี พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทดลองใช้โทรศัพท์ตัวอย่างที่ส่งมายังไทย และทรงโปรดให้ทดลองติดตั้งโทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ โดยใช้สายโทรเลขที่มีอยู่แล้วในเส้นทางนี้ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2) 18 สิงหาคม พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ผู้บัญชาการกรมพระสัสดีได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตระเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ได้มาเพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา ตรงกับ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9) 24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างให้ทั่วพระบรมมหาราชวังทีเดียวเลย เปลี่ยนจากที่จะติดตั้งเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งแต่เดิมใช้โคมแก๊สและน้ำมัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขามีใจความตอนหนึ่งว่า “หลวงปฏิบัติยื่นความเห็นฉบับนี้เห็นว่าเป็นการดีและถูกเงินเป็นแน่ จะยอมให้เป็นพนักงานทำเป็นการเหมาเสียทีเดียวก็ได้ เครื่องแก๊สเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้วอยากจะขายเลหลังเสียทีเดียว ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ ให้เขากะดวงโคมทำเอสติเมศให้ทั่วไป ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยทีเดียวจะดี” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/25) 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ในเรื่องที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงทหารน่า มีใจความตอนหนึ่งว่า “เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชานุญาตที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ … ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบัญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้พระวงษ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้า ๆ ได้ตรวจดูเห็นเป็นเงินนั้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีพอจ่ายไม่ …” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36) พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิตยจัดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สวนสราญรมย์เพื่อใช้ต้อนรับชาวต่างชาติโดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตอร์จาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ ณ สวนแห่งนี้ได้ซื้อเครื่องไฟฟ้าไว้ก่อนแล้ว ต่อมามิศเตอร์จาลบาศเตอร์ได้ถึงอนิจกรรมโคมไฟแสงสว่างได้ตกไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้การไม่ได้เพราะแรงไฟไม่พอ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/40) พ.ศ. 2428 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีประเทศฝรั่งเศสได้บรรยายถึงระบบแสงสว่างใช้แก๊ส ว่าตามสองข้างถนนมีโคมไฟใช้แก๊สสูงประมาณห้าศอกตั้งสลับกันเป็นฟันปลา ฝรั่งเศสใช้กันทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน และลงข่าวอีกว่ามีผู้แสดงความเห็นว่าสมควรให้ไทยแปลวิชาไฟฟ้าภาษาอังกฤษเป็นตำราไฟฟ้าภาษาไทย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียส่งคนมายังไทยเพื่อเล่าเรียนวิชาไฟฟ้าที่เป็นภาษาไทย โดยคาดว่าไทยจะเจริญก้าวหน้าทันประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปในไม่ช้า และภาษาอักษรไทยจะไม่สูญหาย จะแพร่หลายทวีขึ้นทุกๆ ปีสืบไป (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม) พ.ศ. 2431 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวถึงการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้โคมไฟให้แสงสว่างประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงไต้ (น้ำมันยาง) คบ โคมน้ำมันมะพร้าว โคมน้ำมันปลา เทียน โคมไฟฟ้า โคมแก๊ส โคมน้ำมันปริโตรเลียม โคมลาน โคมแมงดา โคมเผาน้ำมันแคสออยล์ มีหัวข่าวว่า “ประทีปโคมไฟ” ซึ่งได้บรรยายถึงโคมไฟฟ้าที่ดีกว่าแต่ก่อน มีความว่า “ต่อมาชาวต่างประเทศนำเทียนมาขาย ก็นิยมยินดีว่าสว่างกว่าน้ำมัน ก็ได้ซื้อใช้และทำบุญ แล้วมีโคมไฟฟ้าเข้ามาแต่มีผู้ใช้น้อย เครื่องเครานั้นก็ยังไม่สู้ดีนัก แต่สว่างกว่าของที่มีแล้วพอควร …… โคมไฟฟ้านั้นก็มีมาต่างๆ ดีขึ้นกว่าก่อนบ้าง ใช้ได้มากดวงขึ้นอีกบ้าง” (จากหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 แผ่น 10) พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจทำธุรกิจด้านไฟฟ้า มีชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ระดมใช้ทุน 480,000 บาทโดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่าที่ดินของวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปีละ 800 บาท ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้า 20 แรงเทียน (วัตต์) จำนวน 10,000 ดวง ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 ตัว ใช้แกลบและฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 ว/1) 14 มีนาคม พ.ศ. 2434 บริษัท บางกอกแตรมเว จำกัดได้มีหนังสือขอประทานพระอนุญาตต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ อธิบดีกรมนครบาลสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 70 แรงม้าตั้งอยู่บริเวณสะพานเหล็ก คลองผดุงกรุงเกษมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่รถรางไฟฟ้า เปลี่ยนจากใช้ม้าลาก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 น/318 น21/6) บริษัทไฟฟ้าสยามใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 2 ปีก็ยังผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เกิดปัญหามากมาย เงินทุนหมดลง เนื่องจากการสั่งการที่ผิด ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย การส่งอุปกรณ์ล่าช้ามาก ก่อสร้างผิดไปจากแบบ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 5 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เกล้ากระหม่อมรับราชการในกรมยุทธนาธิการตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ จึงได้เป็นผู้รักษาและจัดการการไฟฟ้าอันมีอยู่แล้ว ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เป็นการสะดวกติดบ้างดับบ้างต้องจัดการแก้ไขกันไปต่างๆ ไม่หยุด แก้ไปแก้มาเครื่องไหม้จุดอีกไม่ได้ต่อไป ทำไม่ได้ในเมืองไทยต้องส่งเครื่องออกไปทำใหม่ที่ยุโรป … บัญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้แพงมิใช่เล่น ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนเมื่อรับราชการเป็นผู้บัญชาการใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ ได้ตั้งเบิกเงินที่จ่ายในการทำเครื่องไฟฟ้านั้นด้วยร้อยด้วยพันชั่ง ซึ่งรู้สึกเต็มใจว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทุนที่ลงไป แม้แต่หนึ่งในส่วนร้อยก็ทั้งยาก ลมเจียนจะจับทีเดียวแต่จำต้องเบิกจ่ายไป ตัดรอนไม่ได้เพราะเป็นการเก่าที่ทำแล้ว” ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงจะต้องพระราชประสงค์ใช้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกรณีบริษัทไฟฟ้าสยามขาดเงินลงทุน เพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัย (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/2) รัฐบาลได้รับจำนำเพื่อบริษัทจะได้นำเงินไปดำเนินการต่อ แต่สุดท้ายได้หลุดจำนำตกเป็นของรัฐบาลไทยดำเนินการโดยกระทรวงโยธาธิการเรียกว่า “ไฟฟ้าหลวง” 3 กันยายน พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสในพระนครทางรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้าบริเวณถนนวังแล่นไปจนถึงสะพานเหล็ก เสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่รถรางของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3) 17 มกราคม พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางรถพระที่นั่ง เสด็จทอดพระเนตรในโรงไฟฟ้าหลวงที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เป็นเวลา 15 นาที (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 21) 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2439 เกิดเหตุการณ์ที่พลตระเวนของกระทรวงนครบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาโคม ไฟฟ้าตามข้างถนนบริเวณสะพานช้างโรงสี (สะพานข้ามคลองหลอดหลังกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ปล่อยให้ฝุ่นเกาะดูเศร้าหมองเป็นเวลานาน โดยเมื่อคราวที่เป็นโคมน้ำมันอยู่นั้นพลตระเวนต้องทำหน้าที่คอยจุดคอยดับ เช็ดกระจกและเติมน้ำมันทุกวัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสมีใจความว่า “ที่ได้จัดตกลงกันไว้แล้วเช่นนี้ก็ดี ก็ยังต้องการเตือนกันเรื่อยๆ ไปอย่างไทย ไม่มีอะไรวางมือได้สักอย่างเดียว เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้นเหมือนอย่างพลเรือน ที่ต้องหุงข้าวกินเอง กวาดเรือนเอง ตักน้ำรดต้นไม้เอง จุดโคมเองทุกอย่าง อีกสักกี่สิบปี ธรรมเนียมนี้จึงจะหมดไป” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ก.ร.5ยธ/1) “ไฟฟ้าหลวง” ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงโยธาธิการได้ประสบภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน กิจการไม่เจริญก้าวหน้า ติดโคมไฟฟ้าได้น้อย ไฟฟ้าดับบ่อยมาก ซึ่งได้มีการส่งผู้ชำนาญการเรื่องไฟฟ้าเข้าไปตรวจสอบในด้านต่างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป อีกทางหนึ่งก็ได้ให้มีการรีบจัดหาผู้เช่ากิจการไฟฟ้านี้ มีนาคม พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จากกรณีที่ “ไฟฟ้าหลวง” เกิดสภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้ที่ขาดทุนมาแต่ก่อน ควรที่เธอจะตรวจตราและคิดอ่านเสียช้านานมาแล้ว ซึ่งทอดทิ้งไว้ไม่คิดอ่านให้ตลอดจนต้องมีผู้อื่นมาร้อนรนแทนดังนี้ เป็นการทำราชการบกพร่องในหน้าที่ ให้ต้องเปลืองพระราชทรัพย์ เป็นความผิดของเธอซึ่งไม่มีทางจะแก้ว่าไม่ผิดได้ จึงขอติเตียนอย่างแรงในข้อที่ทำให้เงินของรัฐบาลต้องเสียไปโดยมิได้คิดอ่านการให้รอบคอบและละเลยไม่ว่ากล่าวพิททูลให้แก้ไข สืบไปเมื่อหน้าการอันใดในกระทรวงซึ่งเห็นว่าเป็นแต่เปลืองเงินเปล่าไม่ได้ประโยชน์คุ้ม ควรจะแก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงประการใดก็ต้องคิดจัดการโดยเร็วที่สุดอย่าให้เสียเวลา ถ้าจะจัดไม่ตลอดก็ควรจะพิททูลว่ากล่าวให้ตลอดไป การเรื่องไฟฟ้านี้ก็เห็นว่าเป็นอันขาดทุนเหลือเกินกว่าที่จะทนไปอย่างเดิมได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการใหม่ แต่เพื่อจะให้เป็นการพรักพร้อมกันทุกหน้าที่ จึงได้สั่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้พร้อมกับเธอและพระยาเทเวศร์ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ปรึกษากันจัดการเรื่องไฟฟ้านี้เสียให้ทันใน ศก ๑๑๖ ถ้ามีที่จะจัดการได้ดีที่สุดอย่างไร” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/3) 3 เมษายน พ.ศ. 2440 มิสเตอร์ เบนเน็ต ได้ทำสัญญาเช่ากิจการไฟฟ้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใช้ชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดมีมิสเตอร์ เบนเน็ตเป็นผู้จัดการ อยู่ในรูปเอกชน การบริหารงานของบริษัทได้ทำการหยุดการจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนนหลวงในคืนเดือนหงายเดือนละ 3 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำตามแบบอย่างในยุโรปและอเมริกา โดยใข้แสงสว่างจากดวงจันทร์แทน จะใช้ช่วงเวลานี้สำรวจซ่อมแซมระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้เรียบร้อย และใช้ดวงไฟขนาดใหญ่ประเภท “อาร์คไลท์” ในบริเวณที่โล่งกว้าง เพราะสว่างมากกว่า เปลืองพลังงานน้อยกว่าดวงไฟขนาดเล็กที่ต้องใช้หลายดวง มิสเตอร์ เบนเน็ตได้รายงานว่าปริมาณที่บริษัทได้ทำไปแล้วเป็นเวลา 7 เดือนนั้นเท่ากับกระทรวงโยธาธิการได้ทำไป 3 ปี กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้การกำกับดูแลด้านไฟฟ้าในส่วนของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล แทนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 บริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถือเป็นครั้งแรกในไทย สำหรับวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของสถานที่หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ได้มีการเดินพาดสายไฟฟ้าออกจากโรงไฟฟ้าเป็นส่วนเฉพาะ แยกกันต่างหากกับส่วนที่จ่ายไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน เป็นมิเตอร์ขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในห้องที่โรงไฟฟ้า ใส่แม่กุญแจ 2 ดอก รัฐบาลกับบริษัทแยกกันเก็บลูกกุญแจคนละชุดกัน โดยสามารถเห็นตัวเลขได้ชัดเจนจากภายนอกห้อง บริษัทจะต้องจดบันทึกเลขมิเตอร์และเวลาขณะเปิดและปิดไฟฟ้าแล้วส่งให้รัฐบาลก่อนเวลา 9.00 น. ของวันใหม่ทุกวัน พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 มิสเตอร์ เบนเน็ต ผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ทำข้อตกลงหรือสัญญาว่าจะขายสัมปทานกิจการไฟฟ้าให้แก่ชาวเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาชาวเดนมาร์กนี้ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเก็นประเทศเดนมาร์กใช้ชื่อว่าบริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัดมีมิสเตอร์ เวสเต็นโฮลช์เป็นผู้จัดการ ซึ่งต่อมาไม่นานมิสเตอร์เบนเน็ตก็ได้มีการขายสัมปทานนี้ไป 1 มกราคม พ.ศ. 2441 บริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัด (Siam Electricity Co.,Ltd) ได้ทำบันทึกข้อตกลงและข้อสัญญากับรัฐบาลไทย บริษัทนี้ถูกเรียกเป็นภาษาไทยอยู่อีกชื่อหนึ่งว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 รัฐบาลได้ทำสัญญาฉบับใหม่กับบริษัทสยามอิเล็กตริซิตี จำกัดเป็นการยกเลิกสัญญาฉบับเก่า ซึ่งเป็นการควบรวมสัมปทานด้านไฟฟ้าและรถรางทั้งหมดให้อยู่เพียงสัญญาบริษัทเดียว ได้ปรับปรุงสัญญาให้เหมาะสมแก่การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้น เช่น อัตราค่าไฟฟ้าในส่วนงานราชการ คุณสมบัติด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้า ค่าการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่หม้อแปลงและสายไฟฟ้า ฯลฯ พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์ ทรงมีพระราชดำริจะต้องพระราชประสงค์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าที่รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการอยู่ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อมูลนั้นมาให้ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลคิดเปรียบเทียบกับไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ ว่าจะถูกจะแพงกว่ากันอย่างไรบ้าง (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร -5 รล/2 ร.ล1/36) ปี พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ คือบริเวณสวนดุสิต จนนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามเสนเพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด (บางซื่อ) โรงยาฝิ่น และการขยายตัวของบ้านเรือนด้วย 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ทรงพระบรมราชวินิจฉัยให้ผู้เข้าประมูลที่เป็นคนไทยได้ทำสัญญากับรัฐบาล ในการทำกิจการรถรางไฟฟ้าอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งได้ก่อตั้งเป็นชื่อบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด เพื่อไม่ให้บริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัดซึ่งเข้าร่วมประมูลได้ผูกขาดกิจการอันใหญ่โตในกรุงเทพฯ แต่เพียงบริษัทเดียว ซ้ำยังเป็นของชาวต่างชาติอีกด้วย 22 สิงหาคม พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาล ให้ไปจัดการว่ากล่าวกับบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัดให้คิดป้องกันแก้ไขอย่าให้เถ้าแกลบจากปล่องควันโรงไฟฟ้าที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปลิวตกในที่ทั้งปวงเป็นการเดือดร้อนแก่พระสงฆ์สามเณรและราษฎรเป็นอันมาก เมื่อบริษัทจะคิดแก้ไขด้วยประการใด ให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้ตรวจจนเป็นที่พอใจว่าจะแก้ไขได้จริงถึงให้ลงมือทำ หรือมิฉะนั้นให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้คิดให้บริษัททำตาม (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร น 37/7) 1 ตุลาคม พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำสิทธิ์กรรมและเปิดทางรถรางของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด ณ โรงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดเทวราชกุญชร 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 มิสเตอร์แอฟโลตล์ซึ่งเป็นผู้แทนห้างบิกริมแอนโก้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโคมไฟแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อจะได้ทรงทอดพระเนตร ทรงพระราชประสงค์ให้ทำการทดลองแขวนโคมนี้ในสวนที่ทรงใช้เป็นสถานที่เสวยพระกระยาหาร เป็นโคมไฟใช้หลอดอาร์คไลท์รุ่นใหม่ขนาด 160 วัตต์ ให้แสงสีนวล สว่างและประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร.5 ต/15) ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2450 โรงไฟฟ้าได้ประสบภาวะขาดฟืนทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามปกติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายไฟฟ้าโดยหยุดการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับในเวลากลางวันตลอดทุกสาย (ยกเว้นไฟฟ้ากระแสตรงสำหรับรถราง) กำหนดจ่ายให้ส่วนราชการในช่วงเวลา 17.15 น. ถึง 23.30 น. ส่วนบุคคลทั่วไปจ่ายในช่วงเวลา 17.15 น. ถึงตีหนึ่งครึ่ง หากจ่ายน้อยกว่านี้โรงไฟฟ้าจะต้องเสียค่าปรับให้รัฐบาลวันละ 20 บาท 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 กรมเจ้าท่าออกประกาศกฎเกณฑ์ให้ผู้ใช้เรือทราบ ว่าได้มีการวางสายไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองสมเด็จและกรมไปรษณีย์ ห้ามไม่ให้ทอดสมอเรือชนิดใดๆ หรือเกาสมอเรือเป็นอันขาดจากสายไฟฟ้าในระยะ 100 หลา โดยมีป้ายวงกลมสีขาวขนาดใหญ่แจ้งบอกตำแหน่งแนวสายไฟฟ้าไว้ที่ชายฝั่งทั้งสองข้าง 17 เมษายน พ.ศ. 2453 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีอาการป่วยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปประเทศสิงคโปร์เพื่อติดต่อกับหมอกาลโลเวให้เข้ามาถวายการรักษาพระอาการประชวรของรัชกาลที่ 5 ด้วยเครื่องไฟฟ้ารักษาโรค ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ให้หมอกาลโลเวทำการรักษา รู้สึกสบายดีขึ้นมาก จึงให้หมอเป็นธุระจัดซื้อเครื่องจากยุโรป แต่ได้เปลี่ยนโดยการหาเครื่องรุ่นใหม่และดีกว่าในยุโรป 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 พระยาวิสูตรโกษา อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนได้สั่งซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจากห้างชาลแอนสัน กำหนดส่งลงเรือ 7 สิงหาคม ได้ว่าจ้างผู้ชำนาญการด้านไฟฟ้าเดินทางมาติดตั้ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการทรงคาดการณ์จะมาถึงต้นเดือนตุลาคม แต่ได้เกิดเหตุขัดข้องไม่มีเรือที่ผู้ชำนาญการจะเดินทางมาได้ ทำให้กำหนดถึงล่าช้าออกไปอีกประมาณ 2 เดือนคือวันที่ 1 ธันวาคม อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงมีพระดำริว่าหากเครื่องมาถึง จะให้พระยาทิพโกษาซึ่งเป็นโรคเหน็บชาและพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองซึ่งป่วยเป็นโรคปาราไลซ์ที่แก้มได้ใช้ทดลองรักษาดู ก่อนที่จะถวายการรักษารัชกาลที่ 5 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ก่อนที่เครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจะมาถึงประเทศไทย Cr.https://m.pantip.com/topic/35302930?